แม้การให้ลูกดูดนมแม่จะเป็นการคุมกำเนิดไปในตัว เนื่องจากขณะที่ลูกดูดนม ระดับฮอร์โมน Prolactin จะสูงขึ้น และจะไปยับยั้งการตกไข่ แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถคุมกำเนิดได้ 100% หากคุณแม่ยังไม่พร้อมมีบุตรคนต่อไป มารู้จักกับการคุมกำเนิดแต่ละแบบกันค่ะ..

1. ยาเม็ดคุมกำเนิด
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีความปลอดภัยสูง มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดี แถมยังหาซื้อง่ายอีกด้วย

ยาคุมกำเนิดประเภทนี้ ควรกินอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ และเลือกใช้แบบที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน Progesterone เพียงอย่างเดียว ได้แก่ Exluton, Cerazette เป็นต้น เพราะไม่มีฤทธิ์กดการหลั่งน้ำนม และไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมลดลง แต่ควรหลีกเลี่ยงยาคุมทั่วไปที่มีฮอร์โมน estrogen ซึ่งมีผลต่อการผลิตน้ำนม

ข้อเสีย : อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ตัวบวม ที่สำคัญควรกินยาคุมให้ตรงตามกำหนด

2. ฉีดยาคุมกำเนิด
วิธีนี้ก็เป็นที่นิยมเป็นอันดับสอง รองจากการกินยาคุม มีประสิทธิภาพดี ไว้ใจได้ และมีโอกาสพลาดน้อยมาก ทั้งยังไม่มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของน้ำนม โดยยาฉีดคุมกำเนิดจะเริ่มฉีดใน 4 สัปดาห์หลังคลอด และในการฉีดแต่ละครั้งนั้นสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 เดือน จึงควรไปฉีดให้ตรงเวลา

ข้อเสีย : บางคนอาจมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีเลือดออกกระปิดกระปอย

3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
ยาคุมชนิดฝังจะมีลักษณะเป็นแท่งซิลิโคน มีขนาดเล็กประมาณก้านไม้ขีด โดยคุณหมอจะฝังไว้ที่ใต้ท้องแขน สามารถคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง พอครบกำหนดแล้วก็ต้องผ่าเอาออก หรือเปลี่ยนเอาชุดใหม่ใส่เข้าไป และเมื่อถอดออกก็สามารถมีลูกได้เลย ซึ่งดีตรงที่ไม่มีการเลื่อนหลุด

ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นยาคุมแบบเดียวกับยาฉีด บางคนอาจมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีเลือดออกกระปิดกระปอย

4. กินยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่นการเกิดความผิดพลาดจากการรั่ว หรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย หรือการลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไปเป็นต้น อย่างไรก็ตามควรปรึกษาวิธีการกินจากเภสัชกรอย่างละเอียด

ข้อควรระวัง : การใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อย ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้นไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ดต่อเดือน

5. ถุงยางอนามัย
การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิธีที่ง่าย และไม่มีผลกระทบต่อร่างกายของแม่และลูก รวมถึงไม่กระทบต่อการผลิตน้ำนม

ข้อแนะนำ : ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม และสวมตลอดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์

6. การทำหมันถาวร
การทำหมัน จะทำให้เป็นหมันอย่างถาวร หากเปลี่ยนใจก็ต้องผ่าตัดแก้หมัน โดยปกติสามารถทำหมันได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพหรือความรู้สึกทางเพศแต่อย่างใด

 

 

ที่มา หนังสือนมแม่ อาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย โดยสมุนไพรบ้านอาจารย์