breast milk ferrous1

เชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์เจอว่าลูกขาดธาตุเหล็ก ตอนอายุซักประมาณ 6-12 เดือนค่ะ และหลายคนก็คงสงสัยว่า การขาดธาตุเหล็ก เป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เด็กนมแม่ขาดธาตุเหล็กจริงหรือไม่ แล้วจะมีผลอะไรต่อลูกบ้าง?????

เรามาเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับธาตุเหล็กก่อนนะคะ ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของโปรตีนในร่างกายหลายชนิด ที่สำคัญเป็นส่วนประกอบสำคัญของ Hemoglobin และ myoglobin เป็นตัวนำอ๊อกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆของร่างกาย ธาตุเหล็กมีบทบาทต่อการพัฒนาสมอง เนื่องจาก ธาตุเหล็กเป็น co-enzyme ของ enzyme หลายชนิด รวมทั้ง neurotransmitter และ myelin sheath ( เยื่อหุ้มประสาท) มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ขาดธาตุเหล็กตั้งแต่วัยทารกจะมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก

แหล่งของธาตุเหล็กที่ทารกได้รับ มาจาก

1. เหล็กสะสมตั้งแต่ช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา

2. เหล็กจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง

3. เหล็กจากอาหารตามวัยที่ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปรับประทาน

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการขาดธาตุเหล็ก ทารกที่คลอดปกติครบกำหนด จะมีธาตุเหล็กเพียงพอถึง6 เดือน ( บางตำราว่า 4-6 เดือน) เรามาดูว่า ธาตุเหล็กในน้ำนมแม่มีสัดส่วนเท่าไร และทารกได้รับปริมาณเท่าไรต่อวัน

น้ำนมแม่มีธาตุเหล็กอยู่ 0.35 mg/L ถ้าน้ำนมแม่ผลิตได้ 800 ml ต่อวัน ทารกจะไดรับธาตุเหล็ก 0.27mg ต่อวัน ซึ่งตัวเลขนี้คือมาตรฐานทอง ของการได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอในแต่ละวัน  ดังนั้นในทารกใน 6 เดือนแรก ได้รับธาตุเหล็ก 0.27 mg ต่อวันจากนมแม่ รวมกับธาตุเหล็กสะสม เหล็กจากการแตกตัวของฮีโมโกลบิน ก็เพียงพอแล้ว

ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกต้องให้ธาตุเหล็กเสริมหรือไม่?

บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาแนะนำให้เสริมธาตุเหล็กในทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวที่อายุ 4 เดือนขึ้นไป จนกว่าจะได้รับอาหารเสริมตามวัย ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าคำแนะนำนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะตัดสิน

เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ธาตุเหล็กที่สะสมมาก็จะเริ่มหมดลง จึงต้องได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม และมีคุณภาพ ธาตุเหล็ก 90% มาจากอาหารตามวัยนี่เอง อาหารเสริมต้องมีข้าวกับเนื้อสัตว์ด้วย เริ่มเนื้อสัตว์ได้เลยตั้งแต่อายุครบ 6 เดือน ไม่ใช่กินแต่ข้าวกับไข่ หรือข้าวกับผักเท่านั้น ข้าวที่เสริมธาตุเหล็ก ก็อาจจะลดความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็กลง

แหล่งธาตุเหล็กที่สำคัญ :

  • นมแม่ ธาตุเหล็กในน้ำนมแม่ดูดซึมได้เกือบ 50%
  • เนื้อสัตว์ ตับ เลือด ดูดซึมได้20%
  • ปริมาณธาตุเหล็กในอาหาร 100 กรัม ตับ มีธาตุเหล็ก 6-10 mg เนื้อสัตว์อื่นๆมี ธาตุเหล็ก 1-3 mg / 100 กรัม
  • ไข่แดง มี 0.9 mg ต่อไข่แดง 1 ฟอง และ การดูดซึมไม่ดีเท่าเนื้อสัตว์
  • สารอาหารที่จะช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็กจาก ผัก ไข่แดง คือ วิตามิน ซี

สรุป แนวทางป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

1. ป้องกันไม่ให้แม่ขาดธาตุเหล็ก ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์

2. การให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม

3. คัดกรองทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดธาตุเหล็ก

ในประเทศไทย พบทารกอายุประมาณ 9-12 เดือนมีการขาดธาตุเหล็กกันอยู่พอสมควร ซึ่งพอวิเคราะห์ไปแล้วก็พบว่าเกิดจากการกินอาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่การกินนมแม่ !!! เพราะพบว่าถ้ากินอาหารตามวัยไม่เหมาะสม จะกินนมผงหรือกินนมแม่ก็จะขาดเหล็กได้เหมือนกันค่ะ

แต่ในปัจจุับัน ดูเหมือนนมแม่กำลังเป็นแพะรับบาป พอเจอทารกกินนมแม่แล้วซีด ก็ให้เลิกกินนมแม่ เสริมนมผง หรือให้เติมนมผงลงในนมแม่ต่างๆ นานาค่ะ การแก้ไขจริงๆ คือการปรับการให้อาหารตามวัยที่ถูกต้อง และกินนมแม่ต่อไปให้ได้นานที่สุดนะคะ

เรื่องของโภชนาการสำหรับทารกในขวบปีแรก สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือการให้กินนมแม่ ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม เราก็จะทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย และฉลาด ไอคิวดีค่ะ

( ที่มา พญ . ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล จากงานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 5  เรื่อง นมแม่และธาตุเหล็ก )