บทความ-11

ในยุคนี้ปัญหาการแพ้อาหารในเด็กนั้นเพิ่มขึ้นมาก โดยบางเคสอาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้!! ซึ่งในบรรดาเด็กๆ ที่แพ้อาหาร โรคแพ้นมวัวเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด ไม่พบอุบัติการณ์ที่แท้จริงของโรคแพ้นมวัว เนื่องจากเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ แต่สถิติของโรคแพ้นมวัวในต่างประเทศ พบอยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.8-7.5 เลยทีเดียว

“โรคแพ้นมวัว” คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาผิดปกติต่อสารโปรตีนในนมวัว สาเหตุที่เกิดความผิดปกติน่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรม เนื่องจากพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคแพ้นมวัวด้วย ผู้ป่วยสามารถเกิดอาการได้ในหลายๆ ระบบของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

โรคแพ้นมวัวมีอาการอย่างไร??

เด็กที่แพ้นมวัวจะแสดงอาการผิดปกติหลายๆ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
– อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นลมพิษ
– ปวดท้อง เป็นๆ หายๆ อาเจียน ท้องร่วง อุจจาระปนเลือด
– มีบางรายที่เกิดความผิดปกติในระบบหายใจ หอบเหนื่อย มีเสมหะ ดังครืดคราดเป็นๆ หายๆ
– เด็กที่แพ้นมวัว มักมีน้ำหนักตัวขึ้นช้า ซีดและอ่อนเพลีย

การกินอาหารที่แพ้อย่างต่อเนื่อง อาจไม่มีอันตรายที่เห็นได้ชัด แต่จะเป็นการกระตุ้นให้แพ้รุนแรงขึ้น แต่ตรงกันข้ามหากหลีกเลี่ยงไม่รับสิ่งนั้นเป็นเวลานาน บางครั้งใช้เวลา 1-5 ปี อาจมีโอกาสหายแพ้ได้ค่ะ

การป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กที่มีความเสี่ยง

ควรให้เด็กรับประทานนมมารดาอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก และหลีกเลี่ยง…
– อาหารเสริมใดๆ ในช่วง 6 เดือนแรก
– ไข่แดงในช่วง 2 ปีแรก
– อาหารทะเลในช่วง 3 ปีแรก

พ่อแม่ทุกคนที่มีลูกแพ้อาหาร ควรเรียนรู้วิธีช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินหากลูกมีอาการแพ้ รวมถึงทางโรงเรียนก็ควรมีมาตรการการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ หากเด็กมีอาการแพ้ที่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ จะเป็นแพทย์ด้านภูมิแพ้เด็ก หรือ แพทย์ด้านผิวหนังเด็กก็ได้ ที่สำคัญมารดาไม่ควรรับประทานนมวัวมากเกินกว่าปกติในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะช่วงหลังของการตั้งครรภ์) หรือช่วงให้นมเด็กค่ะ

ที่มาข้อมูล : mamaexpert, breastfeedingthai, phyathai
ที่มารูปภาพ : manager.co.th