ice

 

น้ำแข็งที่เราบริโภคกันโดยส่วนใหญ่ มาจาก 2 แหล่งหลักๆ คือ น้ำแข็งที่ผลิตมาจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ ไม่นับที่แช่ทำเองในตู้เย็นบ้านเรานะคะ อันตรายจากน้ำแข็งที่ว่านี้ ส่วนใหญ่ที่เราควรระมัดระวังกันก็คือ เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคที่ปะปนมาจากการผลิตและการขนส่งกันนั่นเองค่ะ เห็นไหมคะว่า เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นกันจริงๆ หากเราเคยติดตามข่าวสารของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อาจเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ กับการตรวจพบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในน้ำแข็งมีเกินมาตรฐาน เช่น กรณีการพบโรงงานน้ำแข็งหลอดย่านบางเขน ซึ่งปรับที่พักเป็นโรงงานผลิต เมื่ออย.เข้าตรวจและนำตัวอย่างส่งตรวจ พบปนเปื้อนเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อี.โคไล จุลินทรีย์ซาลโมเนลล่า ตัวการโรคท้องร่วง ซึ่งปกติเชื้อโรคดังกล่าวจะปนเปื้อนในอุจจาระเท่านั้น

จากตัวอย่างที่ยกมาเล่า แสดงให้เห็นว่า ภัยที่น่ากลัวจากน้ำแข็งนี้มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีจิตสำนึกที่ดีในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ตั้งแต่มาตรฐานน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค ก็ควรต้องเป็นน้ำมาตรฐานน้ำบริโภค และผู้เขียนเองมั่นใจว่า โรงงานน้ำแข็งที่ผลิตภายใต้สุขลักษณะที่ดี และผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินโรงงานตามกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีน้อยมาก

ยังมีเรื่องที่ต้องระวังเล่าให้ฟังต่อ โดยน้ำแข็งที่เราบริโภคกันในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น (ที่โม่และป่นมาจากน้ำแข็งซอง สมัยก่อนเรียก น้ำแข็งมือ นึกภาพง่ายๆ คือ น้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ที่นำมาทำเป็นน้ำแข็งใสนั่นเอง) เจ้าน้ำแข็งที่เราควรระวังมากที่สุด คือ น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น โดยเฉพาะที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และร้านอาหารตามสั่งร้านขายเครื่องดื่มทั่วไปนิยมตักใส่แก้วมาให้เรา ในน้ำแข็งพวกนี้พบว่า มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง กระบวนการตัดก้อนน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กลงจากการใช้ใบมีดที่เป็นเหล็กและมีสนิม

ice factory

โรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน มักมีคนงานต่างด้าวที่ต้องใช้แรงและพลังกายในการยกและการตัดก้อนน้ำแข็งปริมาณมาก มีการพบเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่สวมเสื้อทำงาน ใส่เพียงกางเกงขาสั้น และรองเท้าบูท เดินบนลานน้ำแข็งไปมา ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มักใช้เป็นกระสอบเก่าใบสีขาว ที่เคยใส่ข้าวสาร ใส่แป้ง และไม่แน่ใจว่าจะเอากระสอบสารเคมีอะไรมาใส่หรือเปล่า มีกระบวนการในการล้างทำความสะอาดกระสอบที่เวียนกลับมาใช้หรือไม่

แล้วเคยเห็นเวลาจะนำลงจากรถขนส่งกันไหมค่ะ? เหยียบขึ้นไปบนกระสอบเอย ลากลงมาที่พื้นเอย เห็นแล้วแทบไม่กล้าทานอาหารร้านนั้นเลย ยังไม่รวมการปนเปื้อนเมื่อมาถึงที่ร้านแล้ว หากแม่ค้าพ่อค้าไม่ใส่ใจความสะอาด นำน้ำแข็งมาแช่ในถังที่เดียวกับหมูสด ผักสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบต่างๆ ฟังเท่านี้แล้วอาจเลิกทานน้ำแข็งประเภทนี้กันไปเลยใช่ไหม

น่าสังเกตนะคะ ว่าชาวต่างชาติจะกลัวน้ำแข็งบ้านเรามากๆ เพราะหลายต่อหลายรายท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษเข้าโรงพยาบาลเพียงเพราะน้ำแข็งกัน และหลายครั้งที่เราก็มีอาการเดียวกัน แต่มัวไปคิดถึงว่า เราไปทานอะไรมา โดยที่ทุกๆ คนจะมองข้ามน้ำแข็งไป

นอกจากนี้ เคยลองสังเกตน้ำแข็งแต่ละร้านที่เราทานเข้าไปกันบ้างไหมคะว่าสะอาดหรือไม่ แค่ลองสังเกตดูก้นแก้วเวลาที่น้ำแข็งละลายหมดแล้ว บางร้านผู้เขียนเคยเห็นว่า มีตะกอนสิ่งสกปรกตกอยู่ที่ก้นแก้วจำนวนมาก นี่แค่สิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้นนะคะ

ดังนั้น หากเราอยากทานน้ำแข็งที่สะอาดปลอดภัย จึงควรใส่ใจกับแหล่งที่มา และพยายามสังเกตน้ำแข็งจากร้านที่เราทานว่า สะอาดเพียงพอหรือไม่ ควรเลือกทานน้ำแข็งที่ผลิตโดยเครื่องอัตโนมัติ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือเลือกทานน้ำแข็งอนามัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามระบบ GMP หรือระบบความปลอดภัยของอาหารดีกว่าค่ะ กรณีไปซื้อเครื่องดื่มหรือทานอาหารตามร้านที่ไม่ได้ใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติ ก็ควรสังเกตภาชนะที่ใส่น้ำแข็งกันนะคะว่ามีความสะอาดและสุขลักษณะที่ดีเพียงใด ไม่อย่างนั้นแล้ว เราอาจได้เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้ามาในร่างกายเรา จนทำให้เราเจ็บป่วยได้นะคะ